Home > โครงการดนตรีบำบัด เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน

หลักการและเหตุผล

ดนตรี คือลักษณะของเสียงที่ได้รับการจัดเรียบเรียงไว้อย่างมีแบบแผนและโครงสร้างที่ชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ๓ ด้านใหญ่ๆ คือเพื่อความสุนทรีย์ เพื่อการศึกษา และเพื่อการบำบัดรักษา จากการศึกษาค้นคว้าถึงประวัติที่มาของดนตรีในยุคโบราณ พบว่า ดนตรีมีที่มาจากความหวาดกลัวของมนุษย์ต่อปรากฏการณ์หรือภัยธรรมชาติ และเชื่อว่าเสียงดนตรีซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลาย เพลิดเพลิน จะทำให้พระเจ้ามีความเมตตากรุณา ช่วยให้ผ่านพ้นภัยพิบัติ และบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลธัญญาหาร

ในยุคต่อมา เมื่อเกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จากการศึกษาวิจัยพบว่าดนตรีมีผลต่อร่างกาย จิตใจ และสมองในหลายๆด้าน ผลของดนตรีที่มีต่อร่างกายสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของเลือด ผลของดนตรีต่อจิตใจและสมอง สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ สติสัมปชัญญะ จินตนาการ การรับรู้สภาพความเป็นจริง และการสื่อสารทางอวัจนะภาษา นอกจากนี้รายงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นพบว่า ดนตรีช่วยให้หัวใจแข็งแรง ทำงานได้ดีขึ้น มีการใช้ดนตรีช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์มารดา รวมถึงการใช้ดนตรีลดหรือบรรเทาความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด ในด้านความคิด ดนตรีช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ในด้านอารมณ์ การฟังดนตรีมีแนวโน้มทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตาม ดนตรีจึงมีผลต่อโดยตรงต่อปฏิกิริยาทางอารมณ์ แนวดนตรีและจังหวะดนตรีที่แตกต่างกันส่งผลให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกแตกต่างกัน ดนตรีที่มีจังหวะเร็ว ช่วยปลุกเร้าอารมณ์ กระตุ้นให้ผู้ฟังรู้สึกกระตือรือร้น ฮึกเหิม ในขณะที่ดนตรีที่มีจังหวะช้า ช่วยให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย การได้ฟังดนตรีที่ชอบและมีความรู้สึกร่วมไปกับเสียงดนตรี ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดความสุข ด้านจิตวิทยา มีงานวิจัยหลายการศึกษาพบว่า เสียงดนตรีสามารถรักษาโรคสมาธิสั้น ช่วยปรับเปลี่ยนนิสัยก้าวร้าวของมนุษย์ให้มีความอ่อนโยน เนื่องจากดนตรีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของมนุษย์ดังกล่าว จึงมีการนำดนตรีมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดผ่านกิจกรรมทางดนตรีที่มีรูปแบบ หลักเกณฑ์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ จิตใจ ส่งผลต่อพฤติกรรม ทำให้เกิดการปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงได้ เป้าหมายของการใช้ดนตรีบำบัดจึงมิได้เน้นที่ทักษะทางดนตรี แต่เน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้รับการบำบัด

องค์ประกอบต่างๆทางดนตรี สามารถให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เช่น จังหวะดนตรี (Rhythm) ช่วยให้ผ่อนคลายปละช่วยเสริมสร้างสมาธิ ระดับเสียง (Pitch) เสียงระดับต่ำจะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบสุข ความดัง (Volume) พบว่าเสียงที่เบานุ่มจะทำให้เกิดความสงบสุข สบายใจ ในขณะที่เสียงดังทำให้เกิดการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบการควบคุมตนเองได้ดี มีความสงบ และเกิดสมาธิ ทำนองเพลง (Melody) ช่วยในการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล การประสานเสียง (harmony) ช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้ โดยดูจากปฏิกิริยาที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่างๆจากบทเพลง ประโยชน์ของดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีความสงบและมีทัศนคติในเชิงบวกมากขึ้น ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและลดความวิตกกังวล กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ความจำ กระตุ้นการรับรู้ เสริมสร้างสมาธิ เสริมสร้างทักษะทางสังคม พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยเสริมสร้างกระบวนการบำบัด ทั้งในการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก และการควบคุมตนเอง เป็นต้น

มูลนิธิศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของดนตรีในแง่ของการบำบัดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมดังกล่าวจึงเห็นสมควรจัดโครงการดนตรีบำบัด เพื่อพัฒนารูปแบบการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่หลากหลายสนับสนุนให้การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2561 – 2564 ยุทธศาสตร์ T เพิ่มความเชื่อมั่นศรัทธาในการอำนวยความยุติธรรม โดยมีเป้าประสงค์ประชาชนและสังคมศรัทธาและเชื่อมั่นในกระบวนการอำนวยความยุติธรรมของศาลยุติธรรม และมีแนวทางการดำเนิน ข้อ 1. เสริมสร้างค่านิยมเพื่อความเป็นเลิศทางการศาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประธานศาลฎีกา ข้อ 3 เพิ่มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี และเพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ข้อ 6.4 ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในกิจการต่างๆ ของศาลตามเจตนารมณ์ และข้อ 6.5 เพื่อดำเนินการประสานงานและให้ความร่วมมือต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในขอบข่ายตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อใช้กิจกรรมทางดนตรีเป็นสื่อในการปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล พัฒนาทักษะทางอารมณ์ ความคิด ทักษะทางสังคม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม
  2. เพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพทางดนตรี ให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถทางดนตรีเพิ่มขึ้น เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดเพื่อศึกษาหรือประกอบอาชีพ
  3. เพื่อให้เยาวชนผ่อนคลายความตึงเครียด และลดความวิตกกังวล เสริมสร้างและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ความจำ กระตุ้นการรับรู้ และเสริมสร้างสมาธิ
  4. เพื่อใช้กิจกรรมทางดนตรีเสริมสร้างกระบวนการบำบัด ทั้งในการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก และการควบคุมตนเอง
  5. เพื่อพัฒนาเครื่องมือแก้ไขบำบัดฟื้นฟูทางเลือกที่หลากหลายเหมาะสมตามสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชน
  6. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในในกำกับดูแลของศาลเยาวชนฯเชียงใหม่

ตัวชี้วัดวัตถุประสงค์

1. เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด จิตใจ และพฤติกรรมที่        เหมาะสม ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ภายในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2561

2. เด็กและเยาวชนมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

 เป้าหมายผลผลิต

  1. เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้ ช่วยให้เด็กและเยาวชนอยู่ในอารมณ์สงบ ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล เสริมสร้างสมาธิ และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
  2. เพื่อพัฒนายกระดับจิตใจของเด็กและเยาวชน ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีจิตใจที่อ่อนโยน ลดพฤติกรรมก้าวร้าว มีอารมณ์เชิงบวก
  3. เพื่อใช้ดนตรีเป็นสื่อในการสร้างสัมพันธภาพ พัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กและเยาวชน
  4. เพื่อให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม
  5. เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถทางดนตรีแก่เด็กและเยาวชน เป็นแนวทางให้เด็กและเยาวชนนำไปต่อยอดเพื่อศึกษาหรือประกอบอาชีพในอนาคต

ตัวชี้วัดเป้าหมายผลผลิต

           เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิด ได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่หลากหลาย ลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ ร้อยละ 80 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕61

กลุ่มเป้าหมาย

          เด็กหรือเยาวชนในระหว่างปล่อยชั่วคราวในชั้นก่อนฟ้อง หรือในระหว่างปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาพิพากษาคดี หรือในระหว่างรอคำพิพากษา ของศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานการประชุมเพื่อการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัว ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่

ระยะเวลาทำโครงการ

ปีงบประมาณ 2561 เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 – เดือนกันยายน 2561 โดยจัดกิจกรรมในทุกวันพฤหัสบดี ของสัปดาห์

การติดตามและประเมินผล

7.1  แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ

7.2 การติดตามผลการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนผู้รับบริการให้คำปรึกษา

เจ้าหน้าที่ประจำโครงการ

นายปริญญา  คันธรส             เจ้าหน้าที่มูลนิธิศาลเยาวชนฯเชียงใหม่

นางสาวเศรษฐพร  วงษ์เมตตา   นักจิตวิทยามูลนิธิศาลเยาวชนฯเชียงใหม่

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เด็กและเยาวชนมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และความคิด ช่วยให้เกิดความสงบ ผ่อนคลาย
    มีสมาธิ และเกิดความคิดสร้างสรรค์
  2. เด็กและเยาวชนได้รับการขัดเกลาพัฒนายกระดับทางจิตใจ ช่วยให้มีจิตใจที่อ่อนโยน ลดพฤติกรรมก้าวร้าว มีอารมณ์เชิงบวก
  3. พัฒนาสัมพันธภาพ และทักษะทางสังคมของเด็กและเยาวชน
  4. เด็กและเยาวชนมีทักษะในการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม
  5. เด็กและเยาวชนเพิ่มพูนทักษะความสามารถทางดนตรี เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง การตั้งเป้าหมาย และแรงจูงใจในการต่อยอดเพื่อศึกษาหรือประกอบอาชีพในอนาคต

แผ่นพับโครงการดนตรีบำบัด เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน

ติดต่อสอบถาม/สนับสนุนโครงการ
งานกิจการมูลนิธิศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่
โทร.053-921938 คุณนันท์พนิตา (เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ)